ทัวร์ลงอย่างสร้างสรรค์

ว่าด้วยกรณีฌอน บูรณะหิรัญ

Ken Lohatepanont
1 min readJun 29, 2020

ดาไลลามาะเคยกล่าวว่า “จะเปลี่ยนใจคนอื่นได้ ต้องทำด้วยความเป็นมิตร มิใช่อารมณ์โกรธแค้น”

น้อยคนนักที่จะรู้สึกดีหลังโดนด่า จะโน้มน้าวใครด้วยคำพูดที่รุนแรงก็คงได้แต่แรงต่อต้านสะท้อนกลับมา

การเฝ้าดูกรณีของ ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’ มาหลายวัน ก็ทำให้เกิดข้อคิดหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน

โลกออนไลน์ควรเป็นสะพานที่ช่วยให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

แต่ทางการเมืองกลับเป็นกำแพงที่กั้นระหว่างคนสองขั้ว เพียงแต่มีประตูเปิดไว้ให้พอเดินไปตะโกนด่ากันได้

ส่วนตัวผมไม่มีความคิดเห็นอะไรมากต่อคำพูดของฌอน ไม่เคยสนใจไลฟ์โคชคนนี้มาก่อน และก็ไม่เห็นด้วยว่าพลเอกประวิตรเป็นคนที่น่ารัก

แต่ก็ยอมรับได้ว่าใครจะชอบนักการเมืองคนไหนก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ในสังคมที่เปิดกว้าง ทุกคนมีมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของตนให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อได้แสดงความคิดเห็นที่มีแล้ว ก็ต้องยอมรับในสิทธิของคนอื่นที่จะเห็นต่างและโต้แย้ง

คุณจะเขียนอะไรก็ได้ในโพสต์ของคุณ แต่คนอื่นก็สามารถมา “ทัวร์ลง” ในเพจของคุณเช่นกัน!

มันคืออิสรภาพทางความคิด

แต่อิสรภาพทางความคิดไม่ได้หมายถึงความคิดที่สร้างสรรค์

ปรากฎการณ์ที่เห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมออนไลน์ คือสิ่งที่ในประเทศตะวันตกเรียกว่า “Call out culture” หรือ “Cancel culture” วัฒนธรรมของการประณามผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่ผู้อื่นมองว่าน่ารังเกียจ ขัดกับศีลธรรม เพื่อไม่ให้บุคคลดังกล่าวมีที่ยืนต่อไปได้ในสังคม

หรือเรียกง่ายๆ คือการ ‘คว่ำบาตร’ หรือ ‘แบน’ คนที่เรารู้สึกว่าได้พูดหรือกระทำอะไรที่เราไม่เห็นด้วย

ในต่างประเทศ มักทำการแบนคนดังที่มีพฤติกรรมเหยียดผิวหรือเพศ แต่ในไทย เราได้เห็นการแบนคนที่ถูกกล่าวหาว่าฝักไฝ่เผด็จการ

ในกรณีของฌอน ก็จะเห็นตรรกะที่ว่า ฌอนคิดว่าพลเอกประวิตรน่ารัก แปลว่าฌอนสนับสนุนเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นทุกคนควรจะรังเกียจฌอน เลิกสนับสนุนงานของเขา

มันเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะเลือกไม่สนับสนุนผลงานของใครคนหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าตรรกะเช่นนี้มีความอันตรายในตัว

เช่น อะไรคือมาตรฐานที่ใช้ในการตัดสินว่าใครมีความคิดที่น่ารังเกียจ? ถ้ากล่าวว่าทักษิณน่ารักนับว่าผิดหรือไม่ ในเมื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลของทักษิณเช่นกัน?

การประณามฌอน อาจเป็นเพียงการทัวร์ลงบนเพจของคนที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง

คำถามอีกข้อคือ การประณามฌอนด้วยคำหยาบคาย มีผลดีจริงหรือไม่?

หลายคนอาจคิดว่ามันคือการช่วยขจัดความคิดที่ขัดต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยให้หมดไปจากสังคม

แต่เราต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน สังคมไทยไม่ได้มีฉันทามติว่าประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด

บางคนเชื่อว่าประเทศไทยกับประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้

บางคนต้องการเพียงเสถียรภาพ จึงชอบสโลแกน “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”

บางคนคิดว่านักการเมืองกับทหารก็ “เลว” พอกัน ใครจะปกครองไม่สำคัญ

นานาเหตุผลที่ชี้ไปที่ข้อสรุปเดียวกัน

จะว่าไปก็เป็นเรื่องตลกร้าย ที่หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 88 ปี คนไทยยังตกลงกันไม่ได้ว่าประเทศไทย “พร้อม” สำหรับการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

แต่ความจริงคือความจริง เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยินดีที่จะให้มีการปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

ดังนั้น ถ้าอยากขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจริงๆ ก็ไม่อาจทำด้วยการปิดหูตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนเกือบครึ่งประเทศ แต่ต้องทำด้วยการเปลี่ยนใจคนให้เห็นว่าประชาธิปไตยมีดีอะไร

ผลการวิจัยรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์พบว่า “ผู้ใช้ทวิตเตอร์มักเชื่อว่าเราควรประณามคนที่เห็นต่างจากเรา แต่เราพบว่าการจะโน้มน้าวคนให้สำเร็จต้องใช้กลวิธีที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง”

กลวิธีดังกล่าว คือการรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล

การด่าฌอนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ก็มีแต่จะส่งเสริมความรู้สึกโกรธแค้น และทำให้คนที่คิดเหมือนเขามองว่า ‘ฝั่งประชาธิปไตย’ ไม่ได้สนับสนุนเสรีภาพทางความคิดอย่างแท้จริง (ซึ่งก็ขัดกับหลักประชาธิปไตยในตัวมันเอง…)

คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยคงไม่ฟังถ้าใครมาด่าว่าเป็น ‘ควายแดง’ หรือ ‘ยุวชนส้ม’ ส่วนคนที่คิดว่าระบอบอำนาจนิยมมีประสิทธิภาพมากกว่าก็ไม่ฟังถ้ามีใครมาด่าว่าเขาเป็น ‘สลิ่ม’

มันคือการปิดประตูใส่หน้ากันก่อนที่จะได้คุยด้วยซ้ำ!

ตามที่นักเขียน Stephen Covey เคยกล่าวไว้: “Seek first to understand, then to be understood.”

ถ้าอยากจะให้คนอื่นเข้าใจเรา เราก็ต้องเข้าใจเขาก่อน

บางทีการ ‘ปรองดอง’ ที่นักการเมืองมักใฝ่หา ก็เป็นเพียงอุดมคติที่เราไม่อาจเอื้อมถึง เพราะในสังคมที่เสรี ย่อมต้องมีคนที่เห็นต่างจากเรา ดังนั้นการปรองดองในระบบประชาธิปไตยอาจเป็นอะไรที่เพ้อฝันก็ได้

แต่เราไม่จำเป็นต้อง ‘ปรองดอง’

เราเพียงแต่ต้องคุยกันด้วยเหตุแลผล ยอมรับความจริงว่าประชาธิปไตยยังเป็น
อะไรที่คนไทยยังถกเถียงกันว่ามันดีจริงมั๊ย ยอมรับมุมมองที่แตกต่างให้ได้

ผมไม่ได้คิดว่าบทความนี้จะเปลี่ยนใจใครได้มากนัก ตราบใดที่ยังมีโลกออนไลน์ เราก็จะเห็นปรากฎการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ไปเรื่อยๆ เพราะมันคือเสรีภาพในการแสดงออก

และแน่นอน ไม่มีใครจำเป็นต้องฟัง เพราะหนึ่งบทความเป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ ในมหาสมุทรแห่งความคิด หนึ่งความเห็นเป็นเพียงเสียงเบาๆ ในโลกที่ทุกคนตะโกนเสียงดัง

แต่ก็เขียนด้วยความอยากเห็นประเทศไทยที่พยายามเปลี่ยนใจคนอย่างสร้างสรรค์

เพราะเราอาจได้เห็นอิสรภาพทางความคิดที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริง

(เครดิตภาพ)

--

--